กระแสเงินสด มีความสำคัญอย่างไร ?

สภาพคล่อง

หากพูดถึง “กระแสเงินสด” ในแง่มุมของการวางแผนการเงิน อาจเปรียบเทียบได้เหมือนเป็นลมหายใจของแผนการเงินเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีการวางแผนการเงินมาดีเพียงใด แต่หากเราไม่ได้ดูแลกระแสเงินสดให้ดี จนเกิดภาวะเงินสดขาดมือ ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ รวมถึงมีการแสเงินสดติดลบไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เราถอนเงินเก็บออกมาใช้เรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งต้องไปหยิบยืม แน่นอนว่าก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของดอกเบี้ยตามมา

กระแสเงินสดรับไม่ใช่รายได้ และกระแสเงินสดจ่ายก็ไม่ใช่รายจ่าย 

กระแสเงินสดประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่

1. กระแสเงินสดรับ (Cash Inflow)

คือ เงินสดที่เราสามารถหาเข้ามาได้

2. กระแสเงินสดจ่าย (Cash Outflow)

คือ เงินสดที่เราต้องจ่ายออกไป 

มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า “กระแสเงินสดรับ (Cash Inflow)” แตกต่างกับ “รายได้ (Income)” และ “กระแสเงินสดจ่าย (Cash Outflow)” แตกต่างกับ “รายจ่าย (Expense)” อย่างไร

ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ “เงินสด” สังเกตได้ว่า เวลาเราซื้อของโดยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เราจะสามารถได้ของชิ้นนั้นทันที โดยที่เงินสดยังไม่ถูกจ่ายออกไป แปลว่า มีรายจ่าย (Expense) เกิดขึ้นแล้ว แต่กระแสเงินสดจ่าย (Cash Outflow) ยังไม่เกิดขึ้น

หรือในกรณีที่เรารับทำงาน 1 ชิ้น แล้วคู่ค้าเราเกิดจ่ายเงินล่าช้ากว่าที่ตกลงกัน กรณีนี้ก็ถือว่ารายได้ (Income) เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับกระแสเงินสดรับ (Cash Inflow)

ดังนั้น เรื่องของแผนการเงินจึงเน้นมองที่กระแสเงินสด เพราะต่อให้เราทำงานไปเท่าไหร่ แต่ถ้าเก็บเงินไม่ได้ก็จะไม่มีกระแสเงินสดเข้ามา เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้เงินสดจริง ๆ ก็จะทำให้เราขาดสถาพคล่องได้ ทำให้ในแง่มุมของการวางแผนการเงิน จึงเน้นมองไปที่ “กระแสเงินสด (Cash Flow)” นั่นเอง

การรักษากระแสเงินสดให้เป็นบวกเสมอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพทางการเงินที่ดี 

การวางแผนการเงินเพื่อให้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ โดยทั่วไปแล้วการเพิ่มกระแสเงินสดสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยกันสองวิธีหลัก ๆ ได้แก่

1. เพิ่มกระแสเงินสดจากการ “เพิ่มรายได้” โดยตรง 

ยิ่งหารายได้มาเพิ่มเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยการหารายได้นั้นมีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้แบบ Active Income อย่างการหารายได้เสริม หรือทำงานเดิมให้หนักขึ้น (ทำโอที) ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเราตามแรงที่ลงไปได้

2. สร้างรายได้จาก Passive Income

โดยการสร้างรายได้ในลักษณะนี้ จะเป็นการสร้างระบบให้มีรายได้ให้กับเราโดยไม่ต้องลงแรงและเวลาเพิ่ม เมื่อเราสร้างระบบเสร็จแล้ว วิธีนี้มักจะต้องใช้เวลาและลงแรงมากหน่อยในช่วงแรก ก่อนที่ระบบจะออกดอกออกผลให้อัตโนมัติในอนาคต

อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายในการสร้าง Passive Income คือ การแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทน อย่างการปล่อยเช่าคอนโดมีเนียม ซึ่งจะได้ค่าเช่าเป็นผลตอบแทน การฝากเงินหรือซื้อตราสารหนี้ ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่ง การได้เงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุน ก็ถือเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาว และยิ่งเราสะสมได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสดได้เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

3. ลดรายจ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

เมื่อรายจ่ายของเราลดลงก็ทำให้เรามีเงินเหลือต่อเดือนมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น เทคนิคการลดรายจ่ายนั้นสามารถทำได้โดยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย เพราะการจดบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นเหมือนกระจกสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา จะทำให้เราเห็นว่ารายจ่ายส่วนไหนที่จำเป็นและรายจ่ายประเภทไหนที่เราหมดไปกับมันในปริมาณมาก

โดยส่วนใหญ่แล้ว รายจ่ายมักจะไปกระจุกอยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยกันทั้งนั้น เมื่อเราแบ่งแยกระหว่างรายจ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็นออกจากกันแล้ว เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะลดรายจ่ายไหน เป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยการใช้เทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับไลฟ์สไตล์ หรือแม้กระทั่งการออมก่อนใช้ ก็จะช่วยให้เรามีกระแสเงินสดต่อเดือนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

อีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสด คือ “การปลดหนี้” เพราะถือเป็นการคืนกระแสเงินสดกลับมาให้เราได้ เพราะเมื่อเราติดหนี้น้อยลง ดอกเบี้ยก็จะยิ่งน้อยลง ทำให้เราประหยัดการจ่ายเงินในแต่ละงวดได้

ด้วยวิธีการเหล่านี้ก็จะทำให้เราสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้มากขึ้น เพิ่มสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินสดขาดมือได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของคุกกี้ที่เราจัดเก็บ เหตุผลในการใช้คุกกี้ และวิธีการตั้งค่าคุกกี้ได้ใน ประกาศเกี่ยวกับคุกกี้ และ ประกาศความเป็นส่วนตัว